ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน  เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์  สามารถเกิดขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิงในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน  อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะอยู่ประมาณ 55-60 ปี  และผู้ป่วยโดยส่วนมากจะมีอายุมากกว่า 50 ปี  อย่างไรก็ตาม  โรคพาร์กินสันสามารถเกิดในคนอายุน้อยได้เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยบางรายมีอาการก่อนอายุ 40 ปี เป็นต้น  สถิติผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี  โดยความชุกของโรคพาร์กินสันในผู้ป่วยจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น 

โรคพาร์กินสัน  คือ  ภาวะการเคลื่อนไหวผิดปกติที่เกิดจากระบบประสาท  ซึ่งมีสาเหตุจากการเสื่อมของเซลล์สมอง  โดยอาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

โรคพาร์กินสันจะทำให้การเคลื่อนไหวลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การดำเนินกิจวัตรประจำวันเป็นเรื่องยาก เช่น การอาบน้ำหรือการแต่งตัว

โรคพาร์กินสันมักเกิดใน ผู้สูงอายุที่มี อายุ 65 ปีขึ้นไป

แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยกว่า 15% เริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสันตั้งแต่ก่อนอายุเข้าสู่ช่วงวัย 50 ปี

อาการของโรคพาร์กินสันส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้  การรักษาผู้ป่วยจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการต่างๆ ของโรค

4 อาการหลักของโรคพาร์กินสัน

  • อาการสั่น (Tremor)
    เป็นอาการที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่มือข้างใดข้างหนึ่งก่อน ลักษณะการสั่น คล้ายกับผู้ป่วยกำลังปั้นเม็ดยา (Pill-Rolling Tremor) และมักเกิดขึ้นขณะที่มืออยู่เฉยๆ (Rest Tremor)  อาการสั่นจะลดลงเมื่อผู้ป่วยใช้มือทำงาน
  • อาการแข็งเกร็ง (Rigidity) อาการกล้ามเนื้อแข็งตึงมักเกิดที่แขนหรือขาข้างเดียวกับที่มีอาการสั่น  ผู้ป่วยอาจอธิบายอาการเกร็งออกมาในลักษณะแขนขาหนักหรือเคลื่อนไหวอ่อนแรง เช่น ลุกขึ้นยืนได้ยาก พลิกตัวบนเตียงลำบาก เขียนหนังสือไม่ถนัด เป็นต้น
  • อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) เป็นอาการสำคัญที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกราย  โดยมีอาการเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่ง อาการมักจะเริ่มที่มือหรือส่วนของร่างกายที่มีอาการสั่น  ผู้ป่วยอาจมีอาการช้าทั้งตอนเริ่มการเคลื่อนไหวและมีการเคลื่อนไหวที่ช้า
  • อาการทรงตัวไม่ดี (Postural Instability)
    ผู้ป่วยอาจเซไปทางด้านหลังหรือด้านข้างโดยเฉพาะเวลาเดินกลับตัว  มักจะเดินช้า เดินซอยเท้าถี่และก้าวสั้นๆ บางรายมีลักษณะที่โน้มตัวไปข้างหน้า  การเดินของผู้ป่วยมีการแกว่งแขนลดลงหรือไม่แกว่งแขน

สาเหตุของโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของสมองในส่วนเล็กๆ ที่เรียกว่า ซับสแตนเชียไนกรา (Substantia Nigra) เมื่อเซลล์สมองในส่วนซับสแตนเชียไนกราค่อยๆ เสื่อมและตายลง จำนวนสารโดปามีนในสมองก็จะค่อย ๆ ลดลงจนไม่เพียงพอต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว

โดปามีน (Dopamine) คือสารสื่อประสาทที่ทำให้เซลล์สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวสามารถสื่อสารกับกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นระดับสารโดปามีนที่ลดน้อยลงจึงส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคพาร์กินสัน

เมื่อปริมาณโดปามีนลดลงอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคพาร์กินสันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันจะทำกิจวัตรประจำวันลำบากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่น ลุกจากเก้าอี้ยาก หรือเดินไปที่อีกฝั่งของห้องไม่ไหว ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้รถเข็น หรือนอนติดเตียงเมื่ออาการรุนแรงขึ้น

การดำเนินของโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ  โดยสามารถแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

1. โรคพาร์กินสันระยะแรก (Early Stage) ส่วนใหญ่เป็นโรคพาร์กินสันอยู่ในช่วง  3-5 ปีแรกหลังจากได้รับการวินิจฉัย  อาการของผู้ป่วยระยะนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อย และมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่ดี  ไม่ว่าจะเป็นยาเลโวโดปา หรือ ยาเสริมโดปามีน

2. โรคพาร์กินสันระยะกลาง (Intermediate Stage) ส่วนใหญ่เป็นโรคพาร์กินสันอยู่ในช่วง 5-10 ปี หลังจากได้รับการวินิจฉัย  ปัญหาหลักของผู้ป่วยในช่วงนี้ส่วนมากเกี่ยวข้องกับ การตอบสนองต่อยาที่ไม่สม่ำเสมอ (Motor Fluctuation) เช่น อาการยุกยิก เป็นต้น  นอกจากนี้  ผู้ป่วยอาจเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน เช่น เดินติด ทรงตัวไม่ดี  ผู้ป่วยในระยะนี้เริ่มมีปัญหาในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ถดถอย เนื่องจากอาการดังกล่าว

3. โรคพาร์กินสันระยะปลาย (Advanced Stage) ส่วนใหญ่เป็นโรคพาร์กินสันมากกว่า 10 ปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย  ในระยะนี้ผู้ป่วยมีปัญหาของการตอบสนองต่อยาที่ไม่สม่ำเสมอค่อนข้างรุนแรง  นอกจากนี้อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะเด่นชัดมากขึ้นเช่น อาการหลงลืม ปัญหาควบคุมการขับถ่าย